[TIPS] เทคนิคการถ่ายภาพ ด้วยเทคนิคของ HDR ทั้งเทคนิคของกล้องและการแต่งภาพด้วยโปรแกรม
January 20 , 2019
: Hyper pixel
ปัญหาของการถ่ายรูปนอกสถานที่ มักจะเจอปัญหาย้อนแสง พระอาทิตย์ไม่เป็นใจ ครั้นจะถ่ายให้ได้ภาพสถานที่สีสดใส ท้องฟ้ากลับขาวซีด ครั้นจะถ่ายให้ได้ท้องฟ้าสีสดใส สถานที่กลับดูมืดเสียอย่างนั้น เทคนิค HDR นี่แหละครับที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาลักษณะนี้
ตัวอย่างภาพจากการใช้ HDR จะเห็นได้ว่าได้ทั้งสีสันของสถานที่ และสีสดใสของท้องฟ้า โดยที่ไม่ต้องลำบากตอนรีทัชมากครับ
HDR (High-dynamic-range)
คือการที่เราถ่ายภาพที่มีช่วงความแตกต่างของแสงที่เกิดในภาพมากกว่าปกติที่กล้องจะสามารถทำได้ โดยปกติกล้องจะมีความสามารถ dynamic range แตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเป็นกล้องฟูลเฟรม หรือ กล้องคุณภาพสูงๆ มักจะมี dynamic range สูงมากกว่าปกติ นั่นหมายความว่า ส่วนที่มันสว่างมากๆ จะยังเก็บรายละเอียดของภาพเอาไว้ได้ ได้ raw file เก็บไว้ในการตกแต่งดีเทลส่วนสีขาวให้มันไม่ขาวจนเกินไป ในขณะเดียวกัน ส่วนที่เป็นสีดำ ส่วนที่เป็นเงา ก็จะไม่มืดดำจนเกินไป
HDR มี 2 รูปแบบ คือ HDR โหมดของกล้อง และ HDR ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น lightroom photoshop หรือแอพพลิเคชั่นที่มี HDR
HDR คือการถ่ายภาพหลายๆใบในแต่ละค่าแสง ทำมาทับซ้อนในโปรแกรม นำจุดที่ดีที่สุดของแต่ละภาพ มารวมอยู่ในไฟล์ภาพเดียวกัน
ซึ่งตัวอย่างที่เราจะลองมาถ่ายภาพ HDR คือ ศาลเจ้าในช่วงเวลาเย็นๆ สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ก็จะมีส่วนที่เป็นเงา ส่วนที่โดนแสงสว่าง ส่วนที่เป็นเงาก็จะมืดมาก ส่วนที่มีแสงก็สว่างมาก แต่อยากถ่ายให้มีรายละเอียดทั้งจากส่วนที่มืดและสว่างให้ออกมาครบ ลองมาดูกันครับ
เลนส์ที่ผมใช้คือเลนส์ไวด์ แต่ไม่ได้กว้างมาก กับ canon 6D เข้าโหมด scene เลือก HDR กล้องที่ใช้ต้องมีระบบ HDR ครับ
ลองใช้โหมด HDR ตั้งถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง ยิงรัวๆ สามภาพ มันก็จะทำการ Merge ให้เป็น Jpeg ภาพเดียวกัน วิธีนี้ก็จะสะดวก ด้วยกล้องประมวลผลให้เสร็จสรรพเรียบร้อย กับอีกวิธีหนึ่งครับ ลองมาทำวิธีที่ดีกว่า กรณีที่แสงมันต่างกันมากๆแบบนี้ เราจะลองถ่ายภาพนิ่งสักห้าภาพคือไล่ไปทีละสต็อปๆ แล้วนำไปประมวลผลในคอม
กรณีไม่มีขาตั้งกล้อง ตั้งโหมด BKT Bracketing คือการถ่ายภาพคร่อมหรือชดเชย ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะให้ชดเชยหรือคร่อมออกมาแค่ไหน ในคลิปผมตั้งค่า Bracketing ต่างกันทีละ 2 สต็อป จะได้ภาพที่มีค่าความสว่างต่างกันมากๆ
หลักการคือนำภาพสามภาพนี้ไป Merge ในโปรแกรม Lightroom เลือกแฟ้มรูปที่เราจะเอามาแต่งแล้วเข้า Develop กด shift เลือกสามภาพ คลิกขวาเลือก photo Merge - - > HDR
เมื่อคลิกจะมีกล่องด้านข้างขึ้นมา เลือก Auto Align และ Auto Settings ในส่วนของ Deghost Amount คือกรณีที่เราถ่ายกิ่งไม้ วิวทิวทัศน์ มีผู้คนเดินไปมา หรือมีการเคลื่อนไหวของ Object บางอย่าง แน่นอนว่าการที่รัวภาพชัตเตอร์หลายภาพเพื่อนำมาทำ ก็มีโอกาสที่ Object บางอย่างในภาพจะขยับเขยื้อน ไม่อยู่ในตำแหน่งเดิม เรียกเอฟเฟ็กต์นี้ว่า ghost ต้องขจัดออก เผื่อไว้ก่อน กลางๆ ของผมเลือก Medium
จากนั้นก็ทำการเรนเดอร์ภาพออกมา กด Merge
ได้ไฟล์ภาพใหม่ขึ้นมา เป็นไฟล์นามสกุล .dng ใช้เครื่องมือด้านขวาลองตกแต่งภาพได้เลยครับ
ได้โทนที่ต้องการก็คลิก file เลือก export ได้เลย
เสร็จแล้วครับ HDR แบบ Manual ไม่ได้ยากเลยครับ มีขั้นตอนเพิ่มมาในคอมนิดหน่อย แต่ทุกคนทำตามนี้ได้แน่นอนครับ