[ ตอนที่ 1 ] ก้าวแรกสู่การถ่ายภาพดิจิตอล
March 29 , 29
: Hyper pixel
แนวคิดการถ่ายภาพ
การเกิดภาพถ่าย หลักการเริ่มมาจากแสงที่ลอดเข้าผ่านรูเล็กๆ โดย อริสโตเติล นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกเป็นผู้บันทึกหลักการแรกนี้ไว้ตั้งแต่ 400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ว่า "ถ้าเราปล่อยให้ลำแสงผ่านเข้าไปทางรูเล็กๆในห้องมืด ถือกระดาษขาวให้ห่างจากรูรับแสงประมาณ 15 ซม. จะปรากฏภาพหัวกลับที่ไม่ค่อยชัดเจนนักบนกระดาษ" ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการวาดภาพเหมือน โดยทำเป็นห้องมืดเล็กๆ มีกระจกฝ้ารับแสงไว้เพื่อให้เห็นร่าง ทำให้ง่ายต่อการกำหนดสัดส่วนที่สมจริง โดยเฉพาะการวาดภาพสมจริงในยุคนั้น ซึ่งเรียกกล้องนี้ว่า "กล้องออบคิวรา" ซึ่งภาษาละตินหมายถึง "ห้องมืด" และก็จะพัฒนาต่อมาเป็น "กล้องรูเข็ม" นั่นเอง
การถ่ายภาพ (Photography)
"Photography" รากศัพท์มาจากภาษากรีก ซึ่งแยกคำและความหมายเป็น
PHOS หรือ PHOTOS = Light (แสง)
GRAPHOS = to write (การเขียน)
PHOTOGRAPHY จึงหมายถึง “การเขียนด้วยแสงสว่าง” นั่นเอง
ดังนั้นวิชาการถ่ายภาพ คือ ความรู้ที่ว่าด้วยกระบวนการแห่งการสร้างรูปโดยอาศัยแสงสว่าง โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ 2 ส่วน คือ
- ฟิสิกส์ ประกอบด้วย แสง เลนส์ กลไกกล้องถ่ายภาพ
- เคมี สารไวแสง และน้ำยาในกระบวนการสร้างภาพต่างๆ
ผ่านมา 200 ปี โจเซฟ นีเซฟอร์ เนียปส์ นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส ได้ค้นพบปฏิกิริยาของสารเคมีที่ทำให้เกิดภาพถ่ายถาวรภาพแรก เมื่อปี 1816 โดยเนียปส์ทดลองถ่ายภาพด้วยกล้องรูเข็มที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 4 3/4 นิ้ว โดยใช้สารประกอบของโลหะเงิน เป็นสารไวแสง เขาปิดประตูหน้าต่างหมดทุกบาน เหลือไว้เพียงบานเดียว หันหน้าเลนส์ไปทางหน้าต่างบานนั้น ข้างนอกหน้าต่างที่เปิดอยู่มีกรงนกแขวนอยู่ เมื่อถ่ายภาพกรงนก ปรากฏว่าได้ภาพที่มีพื้นหลังดำกรงนกสีอ่อนเกือบขาว ทั้งนี้เพราะนอกหน้าต่างมีความสว่างมาก จึงทำให้ภาพกรงนกดูซีดจางกว่าฉากหลัง ภาพที่ได้เรียกภาพ เนกาตีฟ (negative) คือ ได้ภาพสีดำ-ขาว กลับตรงกันข้ามกับวัตถุจริง แต่เขาไม่สามารถทำให้ภาพคงทนถาวรได้ เนื่องจากเนียปส์ไม่ทราบวิธีกำจัดสารไวแสงในบริเวณที่ไม่ถูกแสงออก ซึ่งสารไวแสงในบริเวณดังกล่าวจะค่อย ๆ ดำขึ้น ทำให้ภาพกลายเป็นสีดำไปหมดทั้งภาพ
เนียปส์ทำการทดลองใหม่โดยใช้สารบีทูเมนจูเดียซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของแอสฟัลต์ (ยางมะตอย) มีความไวแสงต่ำมาก สารดังกล่าวเมื่อถูกแสงแล้วจะแข็งตัวไม่สามารถละลายน้ำได้ ส่วนที่ไม่ถูกแสงจะอ่อนตัว สามารถล้างออกได้ด้วยสารละลายจำพวกน้ำมันลาเวนเดอร์ และน้ำมันสน ในที่สุด เนียปส์ประสบความสำเร็จ ในปี 1826 โดยใช้สารดังกล่าวเคลือบบนแผ่นโลหะผสมระหว่างดีบุก และ ตะกั่ว แล้วใส่เข้าไปในกล้องคาเมร่า ออบสคูร่า ถ่ายรูปจากหน้าต่างบ้านเลอกราของเขาเอง (ชื่อภาพว่า View from the Window at Le Gras ถ่ายที่เมืองแซ็ง-ลู-เดอ-วาแรน) ใช้เวลาเปิดรับแสงประมาณ 8 ชั่วโมง เป็น ภาพถ่ายที่ถาวร ภาพแรกของโลก
View from the Window at Le Gras